ความจงรักภักดี = โอกาสทางธุรกิจ HR ต้องสรรหาคนแบบไหนมาทำงาน ?

  • 23 พ.ค. 2566
  • 7611
หางาน,สมัครงาน,งาน,ความจงรักภักดี = โอกาสทางธุรกิจ HR ต้องสรรหาคนแบบไหนมาทำงาน ?

จากบทความที่แล้ว ผมได้พูดถึงพฤติกรรมของคนทำงาน Gen Y กับความจงรักภักดีต่อองค์กร (GEN Y ไม่มีความจงรักภักดีต่อองค์กร จริงหรือ ?) ซึ่งส่งผลต่อโอกาสทางธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง การสรรหาคนทำงานหรือบริหารคนในองค์กรให้มีความจงรักภักดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง HR จะต้องบริหารอย่างไร เรามาติดตามกันต่อในบทความนี้เลยครับ

อย่างที่เราทราบกันดีว่าพนักงานเจนวาย ซึ่งสำหรับหลายๆที่ก็ได้กลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ในองค์กร จึงต้องทำให้คนกลุ่มนี้เกิดความจงรักภักดีต่อองค์กร (ซึ่งมักได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นแนวคิดที่มุ่งนำมาศึกษาและปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาคนทำงานเปลี่ยนงานบ่อย) เพื่อที่องค์กรจะแสวงหาแนวทางรับมือได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกับปัญหาการลาออกและต้องรับเข้าใหม่ทดแทนบ่อยครั้ง ซึ่งปัญหาเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบทางลบต่อประสิทธิผลขององค์กรในแง่ต้นทุนที่เป็นตัวเงิน เช่น ต้นทุนการสรรหาคัดเลือก ต้นทุนการลงประกาศโฆษณาเพื่อสรรหา ต้นทุนการสัมภาษณ์และคัดเลือก ต้นทุนการฝึกอบรมพัฒนาพนักงานใหม่ กับต้นทุนอีกหลายประการที่ไม่ใช่ตัวเงินขององค์กร เช่น ต้นทุนจากการสูญเสียผลิตภาพในการทำงาน รวมไปถึงต้นทุนที่เกิดจากการแบกรับภาระงาน ความเครียด รวมถึงการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจหรือความล่าช้าในการให้บริการ และยังส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งเป็นระบบที่ใหญ่ขึ้นไปอีกด้วย การทำให้พนักงานมีความรู้สึกจงรักภักดีต่อองค์กร จึงเป็นเงื่อนไขประการสำคัญที่ทำให้องค์กรสามารถคงขีดความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่ง

ทั้งนี้ นักวิชาการและนักวิจัยก็ต่างเสนอความเห็นไว้ในทำนองเดียวกันว่า เมื่อใดที่บุคลากรมีความจงรักภักดีน้อยลง ก็จะส่งผลให้เกิดความต้องการอยากออกไปจากองค์กร หรือมีความต้องการคงอยู่กับองค์กรลดน้อยลง โดยอาจจะมีการโอนย้ายไปทำงานในตำแหน่งอื่นหรือลาออกไปจากองค์กร แต่หากบุคลากรนั้นไม่ได้ลาออกไปจากองค์กร ก็จะมีแนวโน้มทำงานให้กับองค์กรอย่างไม่ตั้งใจ ไม่ทุ่มเททำงาน ขาดความกระตือรือร้น และหาโอกาสที่จะย้ายไปร่วมงานกับองค์กรอื่นที่เขาคิดว่าดีกว่า ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่พึงประสงค์อย่างยิ่งสำหรับองค์กร ขณะที่พนักงานที่มีความจงรักภักดีต่อองค์กร จะเรียนรู้ระหว่างการปฏิบัติงานว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ตนเองทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเพิ่มคุณค่าให้แก่ลูกค้ามากขึ้น

HR จึงควรหันมาใส่ใจอย่างมากกับเรื่องเก่าที่อาจจะเล่าใหม่อย่างเรื่อง Employee Loyalty ที่ผมนำเสนอนี้ 

ความจงรักภักดีต่อองค์กร (Employee Loyalty หรืออาจจะเรียกว่าเป็น Organizational Loyalty ก็ไม่ว่ากันครับ) เป็นแนวคิดที่เหล่านักวิชาการ นักวิจัยและนักบริหารในองค์กรต่างหันมาให้ความสนใจศึกษาและค้นหาแนวทางในการบริหารทรัพยากรบุคคลกันอย่างแพร่หลายในระยะเวลาราวสองทศวรรษที่ผ่านมา

ผู้รู้ท่านบอกไว้ว่า องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันอย่างสูงนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรที่พนักงานมีความจงรักภักดีในระดับสูง ซึ่งก็เท่ากับว่า องค์กรจะต้องให้ความสำคัญในการดำเนินการพัฒนาและเสริมสร้างให้พนักงานมีคุณลักษณะของความจงรักภักดีต่อองค์กรอย่างเต็มกำลัง เพราะหากทำได้ก็จะส่งผลดีให้พนักงานมีความเต็มใจที่จะเสียสละ อุทิศตนทำงานอย่างมุ่งมั่น เพื่อให้เกิดผลงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีขวัญกำลังใจในการทำงานอย่างสูง  ยอมรับเป้าหมาย คุณค่าหรือค่านิยมขององค์กร มีเจตจำนงที่จะเติบโตก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มุ่งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจากการที่เขาทุ่มเทแรงกายและแรงใจในการทำงานให้กับองค์กรอย่างเต็มกำลัง มีเจตคติด้านบวกต่อผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน มีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่น ทำงานกับองค์กรในระยะเวลายาวนาน ไม่มีความตั้งใจที่จะลาออกจากองค์กร รวมทั้งการให้บริการที่ประทับใจสูงสุดต่อลูกค้า ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้ลูกค้ามีความพึงพอใจ เกิดการซื้อสินค้า/บริการซ้ำ กระทั่งนำไปสู่ผลกำไรที่ดีในการดำเนินธุรกิจ

อันที่จริงนั้น แนวคิดความจงรักภักดีต่อองค์กร กล่าวกันว่าได้รับการพัฒนามาจากแนวคิดความจงรักภักดีของลูกค้า (Customer loyalty) พร้อมกับได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า ความจงรักภักดีต่อองค์กร เป็นหนึ่งในเรื่องที่มีความสำคัญต่อองค์กรไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าความจงรักภักดีต่อลูกค้าที่มีต่อองค์กรหรือผลิตภัณฑ์/บริการขององค์กรเอาเสียเลย

อย่างไรก็ตาม แม้ความจงรักภักดีต่อองค์กรจะได้รับการศึกษากันอย่างกว้างขวางในสังคมวิชาการตะวันตกก็ตาม แต่ก็ยังไม่ปรากฎจากข้อเสนอของนักวิชาการท่านใดว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่

ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 นักวิชาการบางท่านอธิบายไว้ว่า ความจงรักภักดีต่อองค์กร เป็นการที่พนักงานปฏิเสธที่จะเปลี่ยนงานแม้เขาจะได้รับข้อเสนอจากองค์กรใหม่ซึ่งให้ค่าตอบแทน เงื่อนไขหรือสภาพการจ้างงานในบางประการที่ดีกว่าเดิม

ต่อมาในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 ก็มีอีกบางท่านบอกว่า ความจงรักภักดีที่พนักงานมีต่อองค์กรนั้น เป็นความรู้สึกและการแสดงออกถึงความเคารพรักต่อผู้บังคับบัญชา และผู้บังคับบัญชาที่มีลูกน้องที่มีความจงรักภักดี ก็จะสามารถบริหารจัดการ รวมทั้งกระตุ้นให้พนักงานมีความพยายามในการปฏิบัติงานมากขึ้น

ภายหลังต่อมา ความจงรักภักดีต่อองค์กร ได้รับการให้ความหมายเน้นไปในบริบทของความรู้สึกและความตั้งใจคงอยู่กับองค์กรโดยไม่เปลี่ยนงานใหม่เสียมากกว่า 

สำหรับผมมองว่า ความจงรักภักดีต่อองค์กรนั้น หมายถึง การที่พนักงานเป็นผู้ที่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ รับรู้และยอมรับเอาเป้าหมาย คุณค่าและแผนการดำเนินงานขององค์กรมาสู่การปฏิบัติงาน รักษาผลประโยชน์ขององค์กร ให้การสนับสนุนองค์กรเพื่อให้มีภาพลักษณ์ที่ดีและการแนะนำให้บุคคลอื่นได้รู้จักองค์กร มีส่วนร่วมในการทำงานและการมองหาโอกาสในการปรับปรุงพัฒนางานในหน้าที่ที่รับผิดชอบและของหน่วยงาน

ส่วนคุณสมบัติคนทำงานที่ HR ต้องสรรหาเข้ามาในองค์กร และการที่จะดูว่าพนักงานเก่ามีความจงรักภักดีต่อองค์กรหรือไม่และเพียงใดนั้น สามารถพิจารณาได้จาก 5 องค์ประกอบ (Components) ต่อไปนี้

1.ความรู้สึกเป็นเจ้าของ หมายถึง การมีความภาคภูมิใจในการเป็นสมาชิกขององค์การและมีความรู้สึกเกี่ยวพันกับงานที่รับผิดชอบ จึงเต็มใจที่จะทำงานกับองค์กรต่อไป และไม่อยากจะลาออกจากองค์กร  

2.การยอมรับองค์กร หมายถึง การรับรู้และยอมรับค่านิยมหรือคุณค่าหลัก (Core Value)  และเชื่อมั่นว่าเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่องค์กรกำหนดไว้ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้บริษัทสามารถเติบโตทางธุรกิจได้

3.การรักษาประโยชน์องค์กร หมายถึง การมุ่งรักษาผลประโยชน์ขององค์กร โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับมากกว่าประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ การบำรุงรักษาเครื่องมือ อุปกรณ์ ทรัพย์สินขององค์กรอย่างประหยัดและเกิดความคุ้มค่าสูงสุด

4.การสนับสนุนองค์กร หมายถึง การสร้างและกล่าวถึงชื่อเสียงภาพลักษณ์ที่ดี การอธิบายและให้ข้อมูลด้านบวกเมื่อองค์กรถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่น รวมทั้งแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักองค์กร

5.การมีส่วนร่วมในงาน หมายถึง การมองหาโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนางาน รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับการให้ข้อเสนอแนะและตัดสินใจเกี่ยวกับแผนปฏิบัติงานของหน่วยงาน

 

ความหมายของความจงรักภักดีต่อองค์กรที่ผมเสนอมานั้น ทดสอบกันด้วยการเก็บข้อมูลการวิจัยและวิเคราะห์ความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้างหรือ Construct Validity ด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน (Confirmatory Factor Analysis) ซึ่งเป็นกระบวนการวิจัยที่เชื่อถือได้ แต่ผลจากการวิเคราะห์ทดสอบทางสถิติจะเป็นอย่างไรนั้น อย่าเพิ่งไปดูเลยครับ 555

แต่ไม่ว่าความจงรักภักดีต่อองค์กรจะเป็นอย่างไร HR ก็ต้องใส่ใจเป็นสำคัญที่สุดครับ

 

รวมเรื่องราวน่ารู้ในงาน HR จากวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาบุคลากร ผู้ผ่านประสบการณ์งานบริหาร HR จากองค์กรในโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ

สอบถามข้อมูลด้าน HR หรือแลกเปลี่ยนมุมมองได้ที่ 0-2514-7472 กด 6

หรือ E-mail : [email protected] (ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น)

 

Credit  :  ดร.ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต  (Professional Training & Consultancy)

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top